“โรงแรม-ตั๋วเครื่องบิน” แพง สะท้อน “ดีมานด์” สูง

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

พูดกันมานานว่า “ท่องเที่ยวไทย” ติดอันดับความนิยมในอันดับต้น ๆ ของโลก

หากวัดกันที่จำนวน ก่อนโควิด ประเทศไทยติด 1 ใน 10 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของโลกมาโดยตลอด

ล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา “กรุงเทพฯ” ครองแชมป์อันดับ 1 เมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก แถมต่างชาติยังบอกว่า ก่อนตายต้องมาสักครั้ง

และยังมี “ภูเก็ต” และ “พัทยา” ติดอันดับบน The Most Visited Citiesin the World อีก 2 เมืองด้วย

สะท้อนว่า “ไทย” เป็นเดสติเนชั่นในฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

คำถามคือ ถ้าเป็นเช่นนั้น จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลต้องให้ “วีซ่า-ฟรี” เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะการให้วีซ่า-ฟรีนั้นรัฐบาลต้องแลกกับการสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมมหาศาล

เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลออกมาหารือร่วมกับสายการบินเพื่อให้ปรับลดราคาค่าตั๋วโดยสารลง เพียงแค่มีคนบ่นว่าตั๋วเครื่องบินเราแพง

ดิฉันมีโอกาสพูดคุยกับ “วัลลภา ไตรโสรัส” ซีอีโอ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” หรือ AWC ซึ่งเป็นผู้ลงทุนและบริหารโรงแรมหรู อาทิ แบรนด์แมริออท โฮเทลส์, เลอ เมอริเดียน, เชอราตัน, บันยันทรี, ฮิลตัน, มีเลีย, อินเตอร์คอนติเนนตัล โอกุระ ฯลฯ

ทุกแบรนด์ ทุกโรงแรม ล้วนเป็นโรงแรมในกลุ่มลักเซอรี่ทั้งสิ้น

“วัลลภา” บอกว่า ที่ AWC มุ่งเน้นลงทุนและพัฒนาโรงแรมกลุ่มลักเซอรี่ทั้งหมด เพราะต้องการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ หรือ Quality Demand เข้ามาเที่ยวประเทศไทย พร้อมเซตราคาห้องพักไว้ในอัตราที่สูง

เช่น โรงแรมแบรนด์แมริออท ในช่วงก่อนโควิดตั้งราคาขายไว้ 3,000 กว่าบาทต่อคืน วันนี้ AWC เซตราคาใหม่ที่ 8,000 กว่าบาทต่อคืน

ถามว่า การเซตราคาให้อยู่ในระดับสูงกระทบกับยอดบุ๊กกิ้งไหม ? คำตอบคือ อัตราการเข้าพักหายไปนิดหน่อย แต่ดัชนีการสร้างรายได้ หรือ RGI ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อห้องที่มีทั้งหมดกลับสูงขึ้น

ในอดีตค่าเฉลี่ย RGI มีอัตราเฉลี่ยที่ราว 100 ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งของ AWC มีค่าเฉลี่ย RGI สูงขึ้นมาก อาทิ คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ มีค่า RGI เท่ากับ 213.5 แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 188.7 และบันยันทรี กระบี่ มีค่า RGI เท่ากับ 146.4

สะท้อนชัดเจนว่า ถ้าเราโฟกัสกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่ต้องกังวลว่าเขาจะไม่มีกำลังจ่าย

ดังนั้น หากเราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นยอดนิยมระดับแถวหน้าของโลก ก็ไม่ควรกังวลกับค่าห้องพักหรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน

คำถามต่อมาคือ การที่รัฐบาลออกมาดูเรื่องราคาตั๋วโดยสาร เพียงแค่มีเสียงบ่นว่า “แพง” นั้นควรหรือไม่

เพราะเป็นกลไกตลาด เป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลาย

“ราคา” ที่แพงสะท้อนถึง “ดีมานด์” การเดินทางที่มากขึ้น ซึ่งน่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

วันใดที่โรงแรมหรูดัมพ์ราคาเหลือ 2,000-3,000 บาท หรือตั๋วโดยสารลดลงมาเหลือหลักร้อยแล้วยังไม่มีคนเดินทาง อันนี้น่าเป็นห่วงมากกว่านะคะ…

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “โรงแรม-ตั๋วเครื่องบิน” แพง สะท้อน “ดีมานด์” สูง

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-03-04T01:37:37Z dg43tfdfdgfd