“อุตสาหกรรมการบิน” ฟื้นทั่วโลก “สายการบิน” พลิกทำกำไร

ว่ากันว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งในภาคการบินทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวใกล้ระดับปี 2562 (ก่อนโควิด-19) แล้ว โดยสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่ง

โดยสายการบินในภูมิภาคอเมริกาเหนือและละตินอเมริกามีปริมาณการขนส่งเกินระดับก่อนโควิด-19 ไปแล้ว ในขณะที่ปริมาณการขนส่งของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ร้อยละ 86 ของระดับก่อนโควิด-19 จากการเปิดประเทศของจีนที่ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ

ธุรกิจการบินฟื้นแรง

สำหรับประเทศไทยพบว่าปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งสิ้นจำนวน 28.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 11.1 ล้านคน ในปี 2565 แต่ยังต่ำกว่าปี 2562 ที่มีจำนวน 39.9 ล้านคน

ข้อมูลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT ระบุว่า เมื่อเทียบกับปี 2562 ในปี 2566 ที่ผ่านมามีปริมาณผู้โดยสารทางอากาศระหว่างประเทศฟื้นตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 64 และฟื้นตัวในระดับร้อยละ 80 สำหรับเส้นทางภายในประเทศ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าสายการบินต่าง ๆ ได้ทยอยกลับมาให้บริการในเส้นทางที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ให้มีจำนวนึ้ สอดรับกับความต้องการของตลาดอย่างชัดเจน

AAV รายได้กลับมาระดับปี’62

“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ. ไทยแอร์เอเชีย ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ให้ข้อมูลว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา AAV มีรายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 41,241.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 เทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 465.8 ล้านบาท (พลิกจากขาดทุน 8,214.4 ล้านบาท ในปีก่อน) ขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 18.9 ล้านคน เติบโตถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขรายได้รวมของปี 2566 จะพบว่ากลับมาได้ในระดับเดียวกับปี 2562 ที่มีรายได้รวมที่ 41,551 ล้านบาท (ขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท) ขนส่งผู้โดยสารรวม 22.15 ล้านคน

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน มีโครงการสนับสนุนต่อเนื่อง อาทิ การยกเว้นวีซ่าประเทศต่าง ๆ การปรับปรุงกระบวนการภายในสนามบินให้คล่องตัว พร้อมรับนักท่องเที่ยว และมีเเคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจการบินฟื้นตัวได้ดี”

เพิ่มเส้นทางบินสู่ “จีน-เอเชีย”

พร้อมบอกด้วยว่า จากการฟื้นตัวดีของธุรกิจการบินอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้สายการบินไทยแอร์เอเชียมีเส้นทางการบินใหม่ และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

โดยไตรมาสที่ 4/2566 เป็นช่วงไฮซีซั่น “ไทยแอร์เอเชีย” ได้เพิ่มเที่ยวบินจากทั่วทุกภาคเข้าสู่เมืองเชียงใหม่กว่าสัปดาห์ละ 200 เที่ยวบิน เช่นเดียวกับจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่มเที่ยวบินให้บริการกว่าสัปดาห์ละ 144 เที่ยวบิน

และเปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่ม อาทิ เส้นทางดอนเมืองสู่กูวาฮาติ และอัห์มดาบาด ประเทศอินเดีย เส้นทางดอนเมือง-ซัวเถา (สาธารณรัฐประชาชนจีน) นอกจากนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างเพิ่มเส้นทางสู่จีนอีกจำนวนหนึ่ง จากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่กว่า 103 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับมาตรการยกเว้นวีซ่าระหว่างกันของไทยและจีนที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้

สำหรับปี 2567 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารเที่ยวบินไป-กลับจีน เอเชีย เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ เป็นร้อยละ 20 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดในปี 2567 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 20-21 ล้านคน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียงร้อยละ 90 รายได้จากการขายและบริการเติบโตร้อยละ 20-23 จากปี 2566 และขยายฝูงบินจาก 56 ลำ เป็น 60 ลำภายในสิ้นปีนี้

“ดีมานด์การบิน” พุ่ง

เช่นเดียวกับสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่รายงานตัวเลขผลการดำเนินงานปี 2566 ว่ามีกำไรสุทธิ 3.1 พันล้านบาท จากปี 2565 ที่ขาดทุน 2.1 พันล้านบาท

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บอกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 เป็นไปในทิศทางบวก สามารถพลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง

โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5 เทียบกับปี 2565 และฟื้นตัวได้ร้อยละ 67.7 ของช่วงก่อนโควิด-19

“อุตสาหกรรมการบินโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีอัตราฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจบริการอากาศยานมีการเติบโตที่สูงขึ้น โดยอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิกที่มีการเติบโตมากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 77.2 สะท้อนถึงดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน”

“อินเดีย” หนุน เอเชีย-แปซิฟิก

ด้าน “การบินไทย” หลังจากเดินหน้าสู่แผนฟื้นฟู ทำให้ผลการดำเนินงานปี 2566 มีรายได้รวมถึง 161,067 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 87% ของปี 2562 และมีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2567 นี้ธุรกิจการบินยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง อาทิ ราคาน้ำมันที่ยังสูงต่อเนื่อง ราคาบัตรโดยสารที่ลดลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม และมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้น

รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะไม่ดีนัก และอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวนสูง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าปีนี้การบินไทยจะสามารถทำรายได้รวมได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนการระบาดของไวรัสโควิดที่มีรายได้รวมที่ 1.84 แสนล้านบาท

โดยปีนี้มีแผนรับมอบเครื่องใหม่เข้ามาอีก 9 ลำ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 70 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้การบินไทยมีเครื่องบินรวม 79 ลำ และเพิ่มเป็น 90 ลำภายในสิ้นปี 2569 จากนั้นจะทยอยเข้ามาอีกตามแผนจัดหาเครื่องบินในปี 2570-2570 จำนวน 80 ลำ

“ปิยสวัสดิ์” บอกด้วยว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปี 2567 ของทุกภูมิภาคจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต หรือปี 2562

และในระยะยาวคาดว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ประมาณร้อยละ 4.5% ต่อปี จากการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารของประเทศอินเดีย

ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีปัจจัยบวกจากมาตรการวีซ่าฟรีระหว่างไทย-จีน ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีอย่างมากต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างไทย-จีน

“การบินไทย” มีแผนขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “อุตสาหกรรมการบิน” ฟื้นทั่วโลก “สายการบิน” พลิกทำกำไร

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-02-29T08:12:44Z dg43tfdfdgfd