ถอดรหัส “นักท่องเที่ยว FIT” เดินทางเพื่อพักผ่อน-นอนโรงแรมหรู

เป็นที่ยอมรับกันว่า “โควิด-19” ทำให้ตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกเปลี่ยน บวกกับราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเส้นทางการบินระหว่างประเทศ เนื่องจากสายการบินยังกลับมาได้เพียงแค่ 60-70% เมื่อเทียบกับปี 2562

โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ระบุว่า หากเทียบกับปี 2562 ในปี 2566 ที่ผ่านมามีปริมาณผู้โดยสารทางอากาศระหว่างประเทศฟื้นตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 64 และฟื้นตัวในระดับร้อยละ 80 สำหรับเส้นทางภายในประเทศ

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มที่กลับมาเดินทางส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หรือกลุ่มที่เรียกกันว่า FIT (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง

FIT ครองสัดส่วน 87%

“ธีระศิลป์ เทเพนทร์” รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์ของ ททท.พบว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นกลุ่ม FIT ในสัดส่วนถึงร้อยละ 87 ไม่ได้ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวหรือมากับบริษัททัวร์

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้แม้จะเดินทางเข้ามาด้วยตัวเอง เป็นนักท่องเที่ยวแบบอิสระ แต่ก็ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว อาทิ โปรแกรมทัวร์ครึ่งวัน (Half Day Trip) โปรแกรมทัวร์ 1 วัน (One Day Trip) จากบริษัททัวร์ หรือผู้ประกอบการในประเทศ

“ธีระศิลป์” บอกว่า จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยของปี 2566 ในช่วงไตรมาส 1-3 (หลังโควิด-19) และปี 2562 (ก่อนโควิด-19) พบว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกในปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 ในเกือบทุกภูมิภาค สะท้อนถึงความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยครั้งแรกเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าสนใจ ได้แก่ เอเชียใต้ เพิ่มจากร้อยละ 40.34 (2562) เป็นร้อยละ 55.29 (2566) ตะวันออกกลาง เพิ่มจากร้อยละ 38.40 (2562) เป็นร้อยละ 48.84 (2566) โดยเฉพาะจากประเทศซาอุดีอาระเบีย อาเซียน เพิ่มจากร้อยละ 21.34 (ปี 2562) เป็นร้อยละ 27.31 (2566) และยุโรป เพิ่มจากร้อยละ 47.45 (2562) เป็นร้อยละ 50.81 (2566)

เดินทางกับครอบครัว-คู่รัก

นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเข้ามาด้วยตัวเองนั้นมีทั้งส่วนที่เดินทางคนเดียวและมีผู้ร่วมเดินทางด้วย โดยพบว่ากลุ่มที่เดินทางคนเดียว หรือ Solo Taveler ถ้าเทียบกับปี 2562 มีสัดส่วนลดลงในปี 2565 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2566

แสดงถึงความมั่นใจในการเดินทางคนเดียว หรือความปลอดภัยของการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยลดลงจากร้อยละ 28.60 (2562) ลดลงเหลือร้อยละ 24.84 (2565) และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.27 (2566)

ส่วนกลุ่มที่เดินทางกับครอบครัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 20.20 (2562) เป็นร้อยละ 21.98 (2566) โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก ได้แก่ อาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ร้อยละ 32.44 ร้อยละ 28.84 และร้อยละ 27.07 ตามลำดับ (2566)

ขณะที่การท่องเที่ยวแบบคู่รักได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 8.90 (2562) เป็นร้อยละ 11.25 (2566) โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาก ได้แก่ ยุโรป โอเชียเนีย และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.71 ร้อยละ 14.53 และร้อยละ 9.17 ตามลำดับ (2566)

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานหรือบริษัท แม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่มาก แต่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ จากร้อยละ 1.81 (2562) เป็นร้อยละ 3.19 (2566) โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาเซียน และเอเชียใต้ ร้อยละ 7.08 ร้อยละ 5.23 และร้อยละ 3.62 ตามลำดับ (2566) (ดูตารางประกอบ)

นิยมจองทริปผ่าน OTA

เมื่อดูวิธีการจองทริปของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT พบว่า ปี 2566 การจองทริปท่องเที่ยวผ่านทาง Website/Application หรือ OTA ยังคงเป็นช่องทางที่มีความสำคัญมากที่สุด (ร้อยละ 53.71) รองลงมาเป็นการจองผ่านบริษัททัวร์ (ร้อยละ 22.58)

และแม้ว่านักท่องเที่ยวกว่าครึ่งใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ แต่การจองตรงกับผู้ประกอบการมีความสำคัญมากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 แล้ว พบว่าการจองตรงกับสายการบิน เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ จากร้อยละ 13.72 (2562) เป็นร้อยละ 20.38 (2566)

นอกจากนี้ยังพบว่า การจองตรงกับโรงแรมก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วยเช่นกัน จากร้อยละ 9.27 (2562) เป็นร้อยละ 10.82 (2566)

เดินทางเพื่อพักผ่อน-ธุรกิจ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการเดินทางนั้นพบว่า นักท่องเที่ยว FIT เดินทางเพื่อการพักผ่อนทั่วไป (Leisure/Holiday) เป็นเหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดในทุกภูมิภาคและทุกปี จากร้อยละ 84.64 (2562) เป็นร้อยละ 86.48 (2565) และร้อยละ 82.00 (2566)

นอกจากนี้เป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 2.40 (2562) เป็นร้อยละ 3.86 (2566) โดยมีสัดส่วนมากที่สุดในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาเซียน และเอเชียใต้ ร้อยละ 6.71 ร้อยละ 6.40 และร้อยละ 6.06 ตามลำดับ (2566)

การเดินทางเพื่อดูแลสุขภาพหรือรักษาพยาบาล (Health and Wellness) แม้ว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ตาม จากร้อยละ 2.56 (2562) เป็นร้อยละ 2.59 (2566) โดยนักท่องเที่ยวที่สำคัญมาจากภูมิภาคอาเซียน และตะวันออกกลาง ร้อยละ 6.68 และร้อยละ 5.49 ตามลำดับ (2566)

ส่วนการเดินทางเพื่อฮันนีมูน หรือครบรอบแต่งงาน (Honeymoon/Anniversary) พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน COVID-19 จากร้อยละ 1.16 (2562) เป็นร้อยละ 1.39 (2566)

โดยนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ระบุว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเดินทางมามากที่สุด ร้อยละ 2.81 และร้อยละ 4.19 ตามลำดับ (2566) ขณะที่การเดินทางเพื่อร่วมกิจกรรมด้านกีฬานั้นยังมีสัดส่วนไม่มากนัก (ดูตารางประกอบ)

ใช้จ่ายหมวดที่พักพุ่ง

ส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT นั้นพบว่า ภาพรวมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT เพิ่มขึ้นจาก 48,209.40 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2562 เป็น 50,898.16 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2566

นับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวจากกำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

โดยค่าใช้จ่ายหมวดที่พัก (Accommodation) มีสัดส่วนมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นหมวดที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากที่สุดด้วย โดยเพิ่มขึ้นจาก 18,451.34 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2562 เป็น 23,518.55 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2566 สะท้อนจากโรงแรมหรูระดับ 5-6 ดาวที่มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างชัดเจน

และค่าใช้จ่ายหมวดที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจอีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ ค่าเดินทาง (Local Transportation) ที่เพิ่มขึ้นจาก 3,966.87 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2562 เป็น 4,688.72 บาทต่อคนต่อทริป ในปี 2566

ส่วนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายลดลงจากเฉลี่ยต่อคนต่อทริป 5,874.95 บาท (2562) เป็น 4,094.09 บาท (2566) ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมในหมวดอาหารที่นักท่องเที่ยวในปี 2566 มีความนิยมอาหารประเภท Street Food เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 62.90 (2562) เป็นร้อยละ 77.37 (2566)

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในหมวดกิจกรรมมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยจากเฉลี่ยต่อคนต่อทริป 11,529.38 บาท (2562) เป็น 10,034.60 บาท (2566) เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในหมวดช็อปปิ้งที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเฉลี่ยต่อคนต่อทริป 8,386.86 บาท (2562) เป็น 8,562.19 บาท (2566)

โดยพบว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจาก “ตะวันออกกลาง” มีการใช้จ่ายมากที่สุดเฉลี่ย 88,512.47 บาทต่อคนต่อทริป รองลงมาเป็นโอเชียเนีย (64,860.81 บาทต่อคนต่อทริป) อเมริกา (60,473.91 บาทต่อคนต่อทริป) และยุโรป (59,344.63 บาทต่อคนต่อทริป)

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ถอดรหัส “นักท่องเที่ยว FIT” เดินทางเพื่อพักผ่อน-นอนโรงแรมหรู

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-03-08T10:49:57Z dg43tfdfdgfd