“การบินไทย” ทวงคืน มาร์เก็ตแชร์

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจาก “การบินไทย” จะประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจนกระทั่งต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้วในแง่ของส่วนแบ่งการตลาด หรือ Market Share ก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อปี 2556 “การบินไทย” มีมาร์เก็ตแชร์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 51.3% ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงแค่ประมาณ 21-22% จากจำนวนเครื่องบินทั้งหมด 70 ลำ

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า หากเปรียบเทียบฝูงบินของการบินไทยในปัจจุบันยังนับว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด

“คู่แข่งขยายฝูงบินมากขึ้น ขณะที่เครื่องบินของการบินไทยลดลง มาร์เก็ตแชร์จึงลดลงเรื่อย ๆ”

หากการบินไทยอยู่แบบนี้ต่อไปโดยไม่จัดหาเครื่องบินเพิ่มในปี 2575-2576 จะเหลือเครื่องบินเพียงแค่ 51 ลำ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือทำให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นและมีมาร์เก็ตแชร์ที่เพิ่มขึ้นได้คือ การจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวางและทยอยหมดสัญญาเช่า

โดยตามแผนการบินไทยจะจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินลอตใหญ่จำนวน 80 ลำ โดยจะทยอยเข้ามาในช่วงปี 2570-2576 ในจำนวนนี้ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับโบอิ้งและบริษัท จีอี แอโรสเปซ ไปแล้ว 45 ลำ ส่วนอีก 35 ลำอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินใหม่ที่มีแผนรับมอบเข้ามาเพิ่มระยะสั้นอีกจำนวนหนึ่ง โดยปีนี้จะมีเพิ่ม 9 ลำ ทำให้สิ้นปีนี้การบินไทยมีเครื่องบิน 79 ลำ และเพิ่มเป็น 90 ลำภายในสิ้นปี 2569 เมื่อรวมกับแผนจัดหาเครื่องลอตใหญ่ 80 ลำ จะทำให้สิ้นปี 2577 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้าการบินไทยจะมีฝูงบินรวมทั้งสิ้น 134 ลำ (บางส่วนหมดสัญญาเช่าและบางส่วนจะปลดระวางตามเวลาการใช้งาน)

โดยคาดว่าเมื่อถึงวันนั้นการบินไทยจะมี มาร์เก็ตแชร์ เพิ่มขึ้นได้ถึงราว 30-35%

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บอกว่า แผนการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวนี้การบินไทยมีทีมที่ปรึกษาระดับโลกเข้ามาช่วยทำงาน และร่วมประเมินสถานการณ์ว่าในอนาคตการฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะเป็นอย่างไร

และการบินไทยต้องเพิ่มเครื่องใหม่เท่าไหร่ เมื่อไหร่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ธุรกิจและฐานะทางการเงินของบริษัทในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาการทำธุรกิจมากว่า 60 ปี และเทียบคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด

“เราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ วันนี้สิงคโปร์แอร์ไลน์มี 154 ลำ คาเธ่ย์ แปซิฟิค (ฮ่องกง) มี 178 ลำ ไชน่า อีสเทิร์น (เซี่ยงไฮ้) มี 632 ลำ ANA (ญี่ปุ่น) มี 213 โคเรียนแอร์ (เกาหลี) มีกว่า 100 ลำ หรือรายใหญ่ในตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์แอร์เวย์ส มี 253 เอมิเรตส์ มี 263 ลำ ฯลฯ ถ้าดูจากจำนวนเครื่องบินนี้สะท้อนชัดเจนว่าถ้าการบินไทยไม่ขยับเราจะถูกกลืนมาร์เก็ตแชร์แน่นอน เพราะประเทศไทยเราเปิดเสรีการบิน”

นอกจากแผนการจัดหาเครื่องบินแล้ว กลยุทธ์สำคัญในการทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ของ “การบินไทย” คือ การบริหารจัดการและเชื่อมโยงเน็ตเวิร์กการบินให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพที่สุด

โดย “ชาย เอี่ยมศิริ” ซีอีโอ การบินไทย เสริมว่า วันนี้สิ่งที่การบินไทยมุ่งเน้นคือ การเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบิน การบริหารเน็ตเวิร์กอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดวางสลอตการบินเพื่อให้ผู้โดยสารที่เดินทางจากเส้นทางบินระหว่างประเทศสามารถต่อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทางภายในประเทศได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด

“ตอนนี้อัตราเฉลี่ยการรอต่อเครื่องเราอยู่ที่ประมาณ 90 นาที มีเป้าหมายให้ลดเหลือ 60 นาทีให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นฮับการบินของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกตามนโยบายรัฐบาล และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเน็ตเวิร์กของเราเองด้วย”

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ปี 2567 นี้จะเป็นปีที่ดีต่อเนื่องของ “การบินไทย” ต่อไป แม้ธุรกิจการบินยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบทิศ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “การบินไทย” ทวงคืน มาร์เก็ตแชร์

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-02-29T08:12:37Z dg43tfdfdgfd