UTA เร่งคิกออฟ “อู่ตะเภา” ลุ้นรัฐแก้ปมรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

โครงการพัฒนาสนามบิน “อู่ตะเภา” และเมืองการบินภาคตะวันออก นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์สำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

โดยผู้ที่ได้รับสัมปทานดำเนินการคือ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ซึ่งได้รับสิทธิการพัฒนาและบริหารโครงการ 50 ปี บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ตั้งแต่ 19 มิถุนายน 2563

ติดปม “รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน”

ล่าสุด “วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร” ซีอีโอ UTA บอกว่า ในเดือนมิถุนายน 2567 นี้จะครบ 4 ปีของการลงนามพัฒนาโครงการแล้ว และยอมรับว่าการดำเนินงานมีความล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลกระทบ และทำให้มีการปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งยังติดเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการคู่แฝดกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้คู่สัญญายังไม่สามารถกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือ NTP (Notice to Proceed) ให้ UTA เริ่มงานได้

“ส่วนเงื่อนไขอื่นของ NTP ได้แก่ การทำ EHIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การเจรจากับกองทัพเรือว่าพื้นที่ไหนบ้างที่จะใช้งานร่วมกัน (Joint Use) และพื้นที่ที่ต้องสร้างใหม่เพิ่มเติม ประเด็นเหล่านี้เราได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว”

คาดคิกออฟได้ปลายปี’67

“วีรวัฒน์” บอกว่า ระหว่างนี้ UTA ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาอยู่ โดยเชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติประมาณไตรมาส 2-3 ของปีนี้ และมั่นใจว่า NTP จะออกได้ประมาณปลายปี 2567

จากนั้นจะเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการระยะที่ 1 ได้ภายในปี 2571 ซึ่งจะช่วยสนามบินอู่ตะเภามีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มจากปัจจุบัน 3 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี เท่ากับสนามบินภูเก็ตในปัจจุบัน และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในอนาคต (เท่ากับสุวรรณภูมิ) ในปี 2603

“ข้อสรุปของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลกับคู่สัญญาที่รับสัมปทาน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งเคลียร์ และเราก็เชื่อว่าสุดท้ายจะต้องมีจุดสิ้นสุด และจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนจะเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิม หรือจะเป็นรายใหม่ตามแผนพัฒนามันต้องมี เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้สนามบินอู่ตะเภา หากรถไฟความเร็วสูงไม่เกิด จะทำให้อู่ตะเภามีอุปสรรคและอาจจะกระทบแผนดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่อีอีซี”

อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะสนับสนุนให้สนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก” แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และทำให้ 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

เพิ่มทุนรอตั้งแต่ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอออก NTP ทาง UTA ก็ได้ดำเนินงานในส่วนอื่นไปบ้างแล้ว ซึ่งใช้เงินลงทุนแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท อาทิ การออกแบบรายละเอียดการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการปรับแบบแอร์พอร์ตซิตี้ ฯลฯ

“วีรวัฒน์” บอกด้วยว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA มีการเดินหน้าพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอย่างมาก โดยได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาทไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และเรียกชำระแล้ว 7,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นสนามบินแห่งแรกของประเทศไทยที่จะเป็นทั้งสนามบิน และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีโครงการ “แอร์พอร์ตซิตี้” เป็นจุดขายหลักของเมืองการบินภาคตะวันออก ที่จะช่วยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังจะตอบโจทย์ประเทศในด้านการขนส่งสินค้า ทั้งทางอากาศ (สนามบิน) ทางบก (มอเตอร์เวย์) ทางราง (รถไฟความเร็วสูง) และทางน้ำ (ท่าเรือ) ที่เชื่อมต่อไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ

เรียกว่า เป็นทั้ง Logistics & Aviation และศูนย์กลางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ประมูล “รันเวย์ 2” 1.6 หมื่นล้าน

“นาวาเอกรตน วันภูงา” หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้ข้อมูลว่า เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา กองบัญชาการกองทัพเรือ (ทร.) ได้ออกประกาศเชิญชวนการจ้างก่อสร้าง (TOR) โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ (รันเวย์ 2) สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท

มีเอกชนเข้ามาซื้อทีโออาร์รวม 30 บริษัท โดยกำหนดให้ยื่นทีโออาร์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นี้

“เรามั่นใจว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในช่วงกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และทดสอบอีกประมาณ 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571”

อีก 10 ปีไทยขึ้น No.9 ของโลก

ด้าน “สุทธิพงษ์ คงพูล” ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT คาดว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีจำนวนเที่ยวบินรวมที่ประมาณ 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี และจะเป็นตลาดการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก

โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณเที่ยวบินสูงสุดที่ 1.07 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นมากแล้วในช่วงนั้น ดังนั้นต้องคิดว่าหากประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก ด้วยจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ต้องมาดูว่าจะต้องวางแผนรองรับอย่างไร ทั้งในส่วนของสนามบินและเส้นทางบิน

แน่นอนว่า แค่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ไม่เพียงพอรองรับอีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้ต้องพัฒนา “อู่ตะเภา” ควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของ กพท. หรือ CAAT นั้น ได้มองด้านการเติบโตและสนับสนุนในด้านมาตรฐาน เพื่อให้สนามบิน “อู่ตะเภา” เป็นสนามบินหลักของประเทศในอนาคต

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : UTA เร่งคิกออฟ “อู่ตะเภา” ลุ้นรัฐแก้ปมรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-04-04T08:30:38Z dg43tfdfdgfd