AOT เร่งบริหารโฟลว์ผู้โดยสารกรกฎาคมนี้ ทุกบริการ “ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที”

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

หลังนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ประกาศขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation Hub) โดยตั้งเป้ายกระดับท่าอากาศยาน “สุวรรณภูมิ” ของไทยให้กลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบิน
ที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก

“กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการยกระดับการให้บริการของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งภายใต้การบริหาร หลังรัฐบาลประกาศผลักดันให้ท่าอากาศยาน “สุวรรณภูมิ” กลับมาอยู่ในอันดับ 1 ใน 50 ภายในเวลา 1 ปีให้ได้ ไว้ดังนี้

มุ่งบริหาร Flow ผู้โดยสาร

“ดร.กีรติ” บอกว่า AOT ได้ทำการยกระดับมาตรฐานการบริการท่าอากาศยานในเครือข่ายทั้ง 6 แห่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหน้าด่านสำคัญ (Gateway) ในการรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยตั้งเป้าหมายว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 นี้ การเช็กอิน การตรวจค้น และการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ทุกขั้นตอนจะใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที

“เป้าปีนี้ผมว่าแชลเลนจ์มาก ๆ เพราะเวลา 15 นาทีเร็วมาก แต่เรามั่นใจว่าเราจะสามารถทำได้”

โดย AOT จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการผู้โดยสารให้มีเกิดความคล่องตัว ลดความหนาแน่น (Passenger Flow) หรือทำให้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารในการเดินทางเข้า-ออก ตามนโยบายของท่านนายกฯ (นายเศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งได้ดำเนินไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่หน้าด่าน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 200 อัตรา และมีแผนจะเพิ่มอีก 400 อัตราภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ในส่วนของ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยและแก้ปัญหาคอขวด บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน

ประกอบด้วย 1.ระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Terminal Equipment : CUTE) เป็นระบบอำนวยความสะดวกและจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสารผ่าน Airlines Application 2.ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) เป็นระบบอำนวยความสะดวก และจัดการด้านการเข้าถึงระบบเช็กอินผู้โดยสาร โดยมุ่งเน้นการบริการแบบ Self-service ซึ่งผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวรอ

3.ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) ผู้โดยสารสามารถโหลดกระเป๋าสัมภาระสู่สายพานลำเลียงได้ด้วยตนเองอัตโนมัติ 4.ระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System : PVS) เป็นระบบการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน

5.ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-boarding Gate : SBG) เพิ่มความสะดวกสบายนักเดินทาง 6.ระบบ Individual Carrier System (ICS) ซึ่งเป็นระบบขนส่งสัมภาระความเร็วสูงและมีความแม่นยำสูงในการตรวจสอบติดตามสัมภาระ

7.ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติขาออก (Auto Gate) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจหนังสือ เดินทางจากเดิม 5,000 คนต่อชั่วโมง เป็น 10,000 คนต่อชั่วโมง และ 8.ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) รถไฟฟ้าเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารกับอาคาร SAT-1

ตั้ง Auto Gate ขาออกแทน ตม.

นอกจากนี้ ยังให้บริการผ่านโครงข่าย 5G นำเสนอประสบการณ์เดินทางแบบใหม่ให้กับผู้โดยสาร เช่น หุ่นยนต์อัจฉริยะ AI ระบบตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล (Biometric) ระบบความปลอดภัยการบินขั้นสูง และระบบตรวจจับวัตถุต้องสงสัย เป็นต้น

“ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมหรือช้าสุดคือเดือนสิงหาคม 2567 นี้การบริการหลาย ๆ ส่วนของท่าอากาศสุวรรณภูมิจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบาย และมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น”

พร้อมยกตัวอย่างท่าอากาศสุวรรณภูมิว่า AOT มีแผนติดตั้งช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) รวม 80 เครื่อง แบ่งเป็น ขาออก 60 เครื่อง และเขาเข้า 20 เครื่อง โดยเครื่องออโต้เกตขาออกจะรองรับพาสปอร์ตต่างชาติรวม 91 สัญชาติ (ครอบคลุมเกือบ 100%)

เรียกว่า ช่อง ตม. ขาออก ต่อไปแทบจะไม่ใช้คนเลย

ส่วนขาเข้าจำนวน 20 เครื่องรองรับพาสปอร์ตคนไทยและอีก 5-6 ประเทศที่มีสนธิสัญญาต่อกัน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ และโยกเจ้าหน้าที่ ตม. ที่ประจำขาออกไปช่วยขาเข้า ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารมี Flow ดีขึ้น

ตรวจค้นไม่ต้องถอดรองเท้า

เช่นเดียวกับระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service : CUSS) และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) ซึ่งปัจจุบันสายการบินรายใหญ่ใช้บริการหมดแล้ว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70-80% จะเหลือสายการบินเล็ก ๆ เท่านั้นที่ยังไม่ใช้

“ตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เราลดกระบวนการของจุดตรวจค้น เดิมเมื่อผู้โดยสารผ่านเครื่องเอกซเรย์ต้องเอาโน้ตบุ๊ก แท็บเลต พาวเวอร์แบงก์ ออกจากกระเป๋า ต้องถอดรองเท้า ฯลฯ ตอนนี้เราลดขั้นตอนไปหลายเรื่อง เช่น ยกเลิกมาตรการถอดรองเท้า พาวเวอร์แบงก์
ไม่ต้องเอาออกจากกระเป๋า ฯลฯ ซึ่งเรามั่นใจว่าจะทำให้กระบวนการ ณ จุดตรวจค้นเร็วขึ้นประมาณ 30%”

นอกจากนี้ ยังได้ขยายเวลาเช็กอินล่วงหน้าถึง 6 ชั่วโมง สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบเช็กอินอัตโนมัติ และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติด้วยตัวเอง และล่วงหน้า 4 ชั่วโมงสำหรับผู้โดยสารที่เช็กอินหน้าเคาน์เตอร์

“เดิมเราเปิดให้ผู้โดยสารเช็กอินล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ประเด็นนี้เราก็ขยับตามนโยบายรัฐบาลมาตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าจากแผนดังกล่าวนี้จะทำให้หลายส่วนดีขึ้น”

ขึ้นท็อป 20 สนามบินโลก

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรก็บเป้าหมายที่นายกฯเศรษฐากำหนดให้ยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายในระยะเวลา 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ภายในระยะเวลา 5 ปี “ดร.กีรติ” บอกว่า มีความเป็นไปได้แน่นอน เพราะ AOT ได้เปลี่ยนแปลงไปหลายส่วนแล้ว เพื่อตอบโจทย์ความเป็น Aviation Hub ของประเทศไทยตั้งแต่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับเรื่องการจัดอันดับปีนี้คาดว่าจะประกาศในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567 ซึ่งจะยังเป็นผลของการตรวจสอบเมื่อปี 2566 อันดับของสุวรรณภูมิอาจยังไม่ขยับมากนัก แต่มั่นใจว่าหลังจากการปรับตัวครั้งใหญ่ในปีนี้จะทำให้อันดับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดีขึ้น และติด 1 ใน 50 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลกได้

และบอกด้วยว่า ตนได้ตั้งเป้าหมายการทำงานของตัวเองตั้งแต่เข้ามาบริหาร AOT แล้วว่าจะทำให้ “สุวรรณภูมิ” ติด 1 ใน 30 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลกให้ได้ ฉะนั้นเป้าหมายนายกฯเศรษฐาที่ต้องการให้สุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก ภายในระยะเวลา 5 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูง

และยิ่งรัฐบาลประกาศเดินหน้าขับเคลื่อน Aviation Hub ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้ AOT สามารถเดินหน้าลงทุนและปรับตัวได้เร็วขึ้น

พร้อมย้ำว่า ในด้านของการพัฒนาไม่มีจังหวะไหนที่ดีเท่านี้อีกแล้ว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : AOT เร่งบริหารโฟลว์ผู้โดยสารกรกฎาคมนี้ ทุกบริการ “ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-03-14T08:20:29Z dg43tfdfdgfd